หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 กฏหมายแพ่งและกฏหมายอาญา


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ย่อป.พ.พ.) เป็นประมวลกฎหมายแพ่ง อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติ (อังกฤษsubstantive law) แห่งประเทศไทย เริ่มร่างครั้งแรกใน ร.ศ.127 ตรงกับ พ.ศ. 2451 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญาเมื่อปีเดียวกัน เพื่อริเริ่มขอยกเลิกบรรดาสนธิสัญญาที่ราชอาณาจักรสยามทำไว้กับต่างประเทศอันมีผลให้สยามต้องเสียเปรียบในด้านสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและเอกราชทางการศาล
การจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยนั้นมี เบือร์แกร์ลิชส์เกเซทซ์บุค(เยอรมันBürgerliches Gesetzbuch) หรือประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน และ มินโป (ญี่ปุ่น:民法Minpō) หรือประมวลกฎหมายแพ่งแห่งญี่ปุ่น เป็นแม่แบบหลัก กับทั้งมีประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส (ฝรั่งเศสCode civil des Français) และ ซีวิลเกเซทซ์บุค (Zivilgesetzbuch) หรือประมวลกฎหมายแพ่งสวิส เป็นแม่แบบรอง ประกอบกับกฎหมายเดิมของสยามเอง กับทั้งกฎหมายของชาติอื่น ๆ และกฎหมายระหว่างประเทศอีกประปราย โดยงานร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เฉพาะการร่างบรรพแรกจากที่วางโครงการไว้ทั้งหมดหกบรรพนั้น ก็กินเวลานานถึงสิบห้าปี ใช้งบประมาณมหาศาล และมีการเปลี่ยนคณะกรรมการร่างถึงสี่ชุด ทุกชุดมีชาวฝรั่งเศสเป็นสมาชิก โดยเฉพาะชุดแรกเป็นชาวฝรั่งเศสทั้งหมด หลังจากนั้นจึงเริ่มทยอยร่างและประกาศใช้บรรพอื่น ๆ จนครบ ทั้งหมดกินเวลากว่าสามสิบปี ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมเรื่อยมาจนปัจจุบันตามสถานการณ์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีโครงสร้างแบ่งเป็นหกบรรพ ประกอบด้วย บรรพ 1 หลักทั่วไป, บรรพ 2 หนี้, บรรพ 3 เอกเทศสัญญา, บรรพ 4 ทรัพย์สิน, บรรพ 5 ครอบครัว และบรรพ 6 มรดก ตามลำดับ โดยตั้งแต่เริ่มมีผลใช้บังคับครั้งแรกใน พ.ศ. 2468 จวบจนถึงบัดนี้ ประมวลกฎหมายดังกล่าวมีอายุเกือบหนึ่งศตวรรษแล้ว

การเริ่มจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

หลังจากรัฐบาลสยามตัดสินใจจัดทำประมวลกฎหมายบ้านเมืองแล้ว ใน ร.ศ. 127 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2451 ก็ได้กฎหมายลักษณะอาญาเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของประเทศและประกาศใช้ในปีนั้นเอง ครั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้จัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อไป ดังปรากฏในพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า
"กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้อยู่ในเวลานี้ยังกระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง สมควรจะนำมารวบรวมไว้แห่งเดียวกันและจัดเข้าเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้สมแก่กาลสมัย ความเจริญ และพาณิชยกรรมแห่งบ้านเมือง และความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ส่วนหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งศาลยุติธรรมได้เคยยกขึ้นปรับสัตย์ตัดสินคดีเนือง ๆ มาโดยธรรมเนียมประเพณีอันควรแก่ยุติธรรมนั้น สมควรจะบัญญัติไว้ให้เป็นหลักฐานและกิจการบางอย่างในส่วนแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งไม่มีกฎหมายที่ใช้อยู่ในบัดนี้ ก็ควรจะบัญญัติขึ้นไว้ด้วย...ทางที่จะให้ถึงซึ่งผลอันนี้ ควรจะประมวลและบัญญัติบทกฎหมายที่กล่าวมาแล้วเข้าเป็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามแบบอย่างซึ่งประเทศอื่น ๆ ได้ทำมา..."
พระองค์โปรดให้ตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วยนักกฎหมายชาวฝรั่งเศสล้วน ๆ ทั้งนี้ เหตุว่าอิทธิของฝรั่งเศสยังมีเหนือสยามอย่างมากในสมัยนั้น ไทยจึงจำต้องยอมตั้งชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ร่างกฎหมาย โดยคณะกรรมการร่างกฎหมายประกอบด้วย
ที่ชาติชื่อตำแหน่ง
1.Flag of ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสชอร์ช ปาดู (Georges Padoux)ประธานกรรมการ
2.Flag of ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสโมรีซ อองรี ลูอี เลอกงป์-มงชาร์วีย์ (Maurice Henri Louis Lecompte-Moncharville)กรรมการ
3.Flag of ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสเรอเน กียง (René Guyon)กรรมการ
4.Flag of ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสลูอี รีวีแยร์ (Louis Rivière)กรรมการ
5.Flag of ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสแซ็กนิตซ์ (Segnitz)กรรมการ
6.Flag of ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสลาฟอร์กาด (Laforcade)กรรมการ
7.Flag of ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสชาร์ล เลแว็ก (Charles L'Evêques)กรรมการ

คณะกรรมการชุดดังกล่าวเริ่มงานตั้งแต่ พ.ศ. 2451 นั้นเอง โดยวางโครงสร้างทั่วไปของประมวลกฎหมาย ก่อนจะประชุมหารือกันว่าจะจัดทำเป็นประมวลกฎหมายสองฉบับ ประมวลฉบับแรกว่าด้วยเรื่องหนี้ อีกฉบับว่าด้วยเรื่องอื่น เช่นที่เป็นอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศตูนีเซีย และประเทศโมรอกโก หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมีมติว่าให้จัดทำเป็นประมวลกฎหมายฉบับเดียวที่ว่าด้วยเรื่องทางแพ่งและพาณิชย์ทั้งหมดจะเหมาะสมกว่า แล้วจึงเริ่มลงมือร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้แก่ราชอาณาจักรสยาม จนกระทั่ง พ.ศ. 2457 ชอร์ช ปาดู เดินทางกลับไปยุโรปและได้แนะนำเดแลสเตร (Délestrée) แก่ทางการไทยให้รับหน้าที่แทนตน ปรากฏว่าเดแลสเตรผู้นี้ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะดำเนินการยกร่าง ซ้ำเขายังรื้อโครงการที่ชอร์ช ปาดู และคณะทำไว้ก่อนหน้า ทำให้ร่างประมวลกฎหมายเกิดความอลเวง และการดำเนินงานเป็นไปโดยเชื่องช้าอย่างถึงที่สุด เมื่อชอร์ช ปาดู เดินทางกลับมาใน พ.ศ. 2549 ถึงกับตกตะลึงที่รับทราบว่างานร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยุ่งเหยิงถึงเพียงนั้น ทั้งที่ตนได้วางระเบียบไว้ตั้งแต่แรกแล้ว เขาถึงเจรจราให้เดแลสเตรลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการและเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนเสีย เพื่อเขาจะได้กลับเข้ารับตำแหน่งอีกครั้ง และแล้ว งานร่างประมวลกฎหมายก็ดำเนินต่อไป และใน พ.ศ. 2459 นั้นเอง จึงได้ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สองบรรพแรก คือ บรรพ 1 หลักทั่วไป และบรรพ 2 หนี้ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าในระหว่างห้วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลสยามต้องสูญเสียงบประมาณไปถึง 770,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นเงินมหาศาลในกาลครั้งนั้น แต่กลับได้ร่างกฎหมายเพียงแค่สองบรรพ
เนื่องจากร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จัดทำเป็นภาษาอังกฤษก่อนจะแปลเป็นภาษาไทย ร่างทั้งสองบรรพนั้นจึงได้รับการส่งต่อมาให้แก่คณะกรรมการตรวจภาษา ซึ่งประกอบด้วย

ที่ชาติชื่อตำแหน่ง
1.Flag of ประเทศไทย สยามหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากรประธานกรรมการ
2.Flag of ประเทศไทย สยามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์กรรมการ
3.Flag of ประเทศไทย สยามหลวงสกลสัตยาทรกรรมการ
4.Flag of อังกฤษอังกฤษพระยากัลยาณไมตรี (เจมส์ ไอเวอร์สัน เวสเตนการ์ด) (James Iverson Westengard)กรรมการ
5.Flag of อังกฤษอังกฤษสกินเนอร์ เทอร์เนอร์ (Skinner Turner)กรรมการ
6.Flag of ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นพระยามหิธรมนูปกรณ์โกศลกุล (โทะกิชิ มะซะโอะ) (政尾藤吉, Tokichi Masao)กรรมการ
7.Flag of ศรีลังกา ศรีลังกาพระยาอรรถการประสิทธิ์ (วิลเลียม แอลเฟรด คุนะทีเลกี) (William Alfred Kunatelake)กรรมการ
โดยกรรมการตรวจภาษาซึ่งเป็นชาวสยามนั้น ทรงเป็นและเป็น "เปรียญเก้าประโยค" ทุกพระองค์และคน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สำหรับบัญญัติศัพท์กฎหมายใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในกฎหมายไทยเป็นการเฉพาะ
อย่างไรก็ดี ในที่ประชุมของคณะกรรมการชุดนี้มีความแตกแยกกันทางความคิดเห็นอย่างรุนแรง หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร ทรงเกรงว่าหากดำเนินการประชุมต่อไปจะเกิดบาดหมางกันใหญ่โต จึงทรงสั่งเลิกประชุม และไม่มีการประชุมอีกเป็นระยะหนึ่ง จนกระทั่งหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมใน พ.ศ. 2451 นั้น โดยสาเหตุคาดว่ามาจากความขัดแย้งดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (หม่อมราชวงศ์ลบ สุทัศน์) ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมคนใหม่ และรับหน้าที่ประธานคณะกรรมการชุดนี้ต่อไป

การจัดทำและประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพอื่น ๆ

ภายหลังจากการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และบรรพ 2 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พร้อมกับการประกาศใช้บรรพ 3 ในเวลาเดียวกันเมื่อ พ.ศ. 2468 กรมร่างกฎหมายซึ่งวิวัฒนามาเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบันก็รับหน้าที่ร่างประมวลกฎหมายสืบต่อมา โดยในการร่างบรรพอื่น ๆ นั้น แม้จะมีประมวลกฎหมายแพ่งของชาติอื่น ๆ ในระบบซีวิลลอว์เป็นแม่แบบ แต่หลักกฎหมายของระบบคอมมอนลอว์ที่เคยใช้อยู่แต่เดิมก็ยังมีอิทธิพลอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้ การรับกฎหมายของต่างชาติเข้าหาได้หยิบยกมาทั้งหมด ทว่า ได้ปรับให้เหมาะสมกับสังคมไทย ดังที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเป็นแนวทางไว้ในพระราชพิธีเปิดรัฐมนตรีสภา เมื่อวันที่ 24 มกราคม ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) ว่า
"...บางทีก็มีอยู่เนือง ๆ ที่ท่านทั้งหลายจะต้องค้นหาเทียบเคียงกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในเมืองต่างประเทศแลหัวเมืองของเมืองต่างประเทศทั้งหลายที่มีเฉพาะสำหรับกับบ้านเมืองเราอยู่นี้เป็นสำคัญเป็นนิตย์ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เราไม่ควรที่จะเปลี่ยนแปลงฤๅจะจัดการแก้ไขธรรมเนียมที่มีอยู่ทุกวันนี้ให้ใหม่ไปหมดสิ้นทีเดียว แลไม่ควรที่จะหลับตาเอาอย่างทำตามธรรมเนียมที่มีในที่อื่น หากว่าเราจะต้องค่อย ๆ ทำการให้ดีขึ้นโดยลำดับในการที่เป็นสิ่งต้องการจะจัดให้ดีแล้ว แลเลิกถอนแต่สิ่งที่เห็นเป็นแน่แท้ว่าไม่ดีฤๅเป็นของใช้ไม่ได้แล้วเท่านั้น ทุกเมืองอื่น ๆ แลในเมืองนี้เป็นสำคัญทั้งสิ้นย่อมมีธรรมเนียมหลายอย่างซึ่งเป็นที่จะต้องนับถือกัน ไม่ใช่เพราะว่าเป็นธรรมเนียมเก่าแก่มาแต่โบราณเสมอกับอายุของประเทศอย่างเดียว หากเพราะว่าเป็นธรรมเนียมที่สนิทแน่นแฟ้นแก่น้ำใจและความเชื่อมั่นของอาณาประชาชน แลเพราะว่าถ้าจะเลิกถอนธรรมเนียมเช่นนี้เสียแล้ว ก็จะไม่เป็นแต่เพียงที่จะเป็นภัยเกิดขึ้นแก่เมืองที่ตั้งอยู่ได้อย่างเดียว หากกระทำให้อาณาประชาราษฎร์ไม่เป็นผาสุกด้วย..."
บานแพนก กฎหมายตราสามดวง ประทับตราพระราชสีห์ ตราพระคชสีห์ และตราบัวแก้ว
ดังนั้น ในการจัดทำประมวลกฎหมายในครั้งนั้น คณะกรรมการร่างกฎหมายจึงคำนึงเสมอว่าบทบัญญัติแต่ละเรื่องเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยหรือไม่ โดยเฉพาะในการร่างบรรพ 4 ว่าด้วยครอบครัว และบรรพ 5 ว่าด้วยมรดก ต้องใคร่ครวญกันอย่างหนักทีเดียวเพราะครอบครัวตะวันตกและครอบครัวไทยนั้นต่างกันราวกับหน้ามือหลังมือ หลาย ๆ เรื่องจำต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนไทยไปจากเดิมก็ได้พยายามให้กระทบกระเทือนน้อยที่สุด เช่น การรับหลักการเรื่องผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) เข้ามา ก็เพียงกำหนดว่าการจดทะเบียนสมรสซ้อน (bigamy) เป็นโมฆะ แต่ไม่ถึงกับเป็นความผิดอาญาเช่นในหลาย ๆ ประเทศ และหลาย ๆ เรื่องก็รับเอาคุณธรรมของมนุษย์มาจากกฎหมายตราสามดวงมาโดยตรงทีเดียว ซึ่งไม่ปรากฏในกฎหมายของชาติใดอีกแล้ว เป็นต้นว่า ในเรื่องคดีอุทลุม ที่เป็นหลักการของความกตัญญูต่อบุพการีและผู้มีพระคุณ โดยกฎหมายตราสามดวง พระไอยการลักษณะรับฟ้อง มาตรา 25 บัญญัติว่า
"ผู้ใดเป็นคนอุทลุม มิได้รู้คุณบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ตา ยาย แลมันมาฟ้องร้องให้เรียกบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยายมัน ท่านให้มีโทษทวนมันด้วยลวดหนังโดยฉกรรจ์ อย่าให้มันคนร้ายนั้นดูเยี่ยงอย่างกันต่อไป แล้วอย่าให้บังคับบัญชาว่ากล่าวคดีของมันนั้นเลย"
ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รับมาบัญญัติใน บรรพ 5 ครอบครัว, ลักษณะ 2 บิดามารดากับบุตร, หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร, มาตรา 1562 ว่า
"ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้"
ทั้งนี้ มาตรา 1562 ดังกล่าวยังใช้บังคับอยู่จนปัจจุบัน และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2522 ให้นิยามของคำ "อุทลุม" ว่า "ผิดประเพณี, ผิดธรรมะ, นอกแบบ, นอกทาง, เช่น คดีอุทลุม คือคดีที่ลูกหลานฟ้องบุพการีของตนต่อศาล, เรียกลูกหลานที่ฟ้องบุพการีของตนต่อศาลว่า คนอุทลุม.
เมื่อยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เสร็จเป็นบรรพ ๆ แล้ว ก็ได้มีการประกาศใช้ทีละบรรพไปตามลำดับ โดยบรรพ 4 มีผลใช้บังคับครั้งแรกโดยพระราชกฤษฎีกาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ บรรพ 5 และบรรพ 6 จึงมีผลใช้บังคับครั้งแรกโดยพระราชบัญญัติตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2478[34] จำเนียรกาลผ่านมานับศตวรรษ ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้มีการตรวจชำระ ยกเลิก ประกาศใช้ใหม่ และแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หลายครั้งตามความเหมาะสมแห่งสถานการณ์ โดยตั้งแต่เริ่มมีผลใช้บังคับครั้งแรกใน พ.ศ. 2468 จวบจนถึงบัดนี้ ประมวลกฎหมายดังกล่าวมีอายุเกือบหนึ่งศตวรรษแล้ว